การเมืองไทย










VS




เป็นการต่อสู้ในเส้นทางของวงจรอุบาตที่ไม่มีวันสิ้นสุด

เห้ออออ ถอนหายใจแล้วก็ถอนหายใจอีก

การเมืองไทยเมื่อไรจะได้เป็นการเมืองไทยที่สมบูรณ์เสียที

หวังว่าการเมืองไทยจะฟื้นฟูในอนาคตเมื่อรถึงรุ่นพวกเรา



ล้อการเมือง(มันก็คือความจริงนั้นแหละมั้ง)







วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551

พันธมิตรฯ ไม่ปิดกั้นเจรจาถ้านายกรัฐมนตรีพร้อม



ทำเนียบฯ 21 ก.ย.- “พล.ต.จำลอง” เผย พันธมิตรฯ พร้อมเจรจา หากนายกรัฐมนตรีพร้อม และติดต่อมา เห็นใจที่ต้องรีบตั้งคณะรัฐมนตรีก่อน ขณะที่ “สมศักดิ์-พิภพ” ยังคงยืนยันไม่เอารัฐบาลจากพรรคพลังประชาชน

เมื่อเวลา 10.00 น. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย และ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ร่วมกันแถลงถึงการประชุมกำหนดแนวทางการเมืองใหม่

พล.ต.จำลอง กล่าวว่า เวลา 14.00-17.00 น.วันนี้ (21 ก.ย.) จะมีการประชุมเรื่องแนวทางการเมืองใหม่ ประกอบด้วยแกนนำพันธมิตรฯ นักวิชาการที่เคยเสนอความเห็นเกี่ยวกับการเมืองใหม่ ประมาณ 10 คน เป็นการประชุมวงเล็ก เพื่อกำหนดแนวทางการเมืองใหม่ แต่จะไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าฟัง สำหรับการเจรจากับรัฐบาลเพื่อแก้หาทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์การเมืองนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อมา ซึ่งทางกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้เร่งรีบที่จะเจรจา และไม่เร่งรัดนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นใจว่ารัฐบาลต้องตั้งคณะรัฐมนตรีก่อน เมื่อนายกรัฐมนตรีพร้อม สามารถติดต่อมาได้ เพราะเราไม่ปิดกั้นการเจรจา

ส่วนที่รัฐบาลได้เจรจากับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ นั้น ต้องสอบถาม นายสนธิ เอง เพราะตนยังไม่ได้พบกับ นายสนธิ และวันนี้ นายสนธิ อาจจะไม่ได้มาร่วมประชุมด้วย เพราะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย

ส่วนกรณีที่ระบุว่า ตำรวจจะสลายการชุมนุมช่วงเช้ามืด ระหว่างวันที่ 22-23 กันยายนนั้น พล.ต.จำลอง กล่าวว่า คนที่ส่งข่าวมาให้เป็นผู้ปรารถนาดี ไม่ได้ปรารถนาร้าย ซึ่งแกนนำยืนยันว่า มีความเป็นไปได้ แต่ทั้งหมดอยู่ที่ตำรวจ ผู้ชุมนุมอยู่กันตามปกติ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการมาจับก็สามารถจับได้ หากคิดว่าสลายการชุมนุมแล้วมีผลดีตามมา

เมื่อถามว่าทำไมไม่มอบตัวเพื่อสู้คดี เมื่อชนะคดีก็เป็นความชอบธรรมในการชุมนุม พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ที่อยู่อย่างนี้ก็เป็นความชอบธรรม กลุ่มพันธมิตรฯ จะรอให้ศาลวินิจฉัยการอุทธรณ์ก่อน เรื่องคดีมีนักกฎหมายผู้ใหญ่แสดงความเป็นห่วงว่าหากไปมอบตัว อาจจะมีปัญหา เพราะเรื่องนี้เป็นการกลั่นแกล้งกัน

ด้าน นายสมศักดิ์ และนายพิภพ กล่าวยืนยันเรื่องการเจรจากับรัฐบาลว่า ยังยืนยันว่า รัฐบาลต้องไม่ใช่คนจากพรรคพลังประชาชน และต้องมีแนวคิดการสร้างการเมืองใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะรัฐบาลจากพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ไม่มีความชอบธรรม.- สำนักข่าวไทย

ที่มา: http://news.mcot.net/politic/inside.php?value=bmlkPTU2NDk4Jm50eXBlPXRleHQ=
อัพเดตเมื่อ 2008-09-21 11:36:59

By:Ponlawat Suwankhammoon
ID:5131601420
Section:02
Blog:http://cats-society.blogspot.com/

คนกรุงกว่าครึ่งยังเลือก อภิรักษ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม.เพราะมีผลงาน-สานงานต่อได้




กรุงเทพฯ 21 ก.ย.- ผลสำรวจคนกรุงเทพฯ กว่าครึ่งยังเลือก “อภิรักษ์” เป็นผู้ว่าฯ กทม. เพราะทำงานดี มีผลงาน สานงานต่อจากเดิมได้ ส่วนกลุ่มที่เคยเลือก “สมัคร” เป็นผู้ว่าฯ กทม.ได้เกิน 1 ล้านคะแนนเกือบครึ่งเลือก “อภิรักษ์” รองลงมาคือ “ประภัสร์-ชูวิทย์” ตามลำดับ

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) 50 เขต เพื่อทราบถึงบทเรียนการเลือกตั้งครั้งก่อนเพื่อมาเป็นแนวทางในการตัดสินใจครั้งนี้ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,899 คน สำรวจระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน 2551 พบว่าคนกรุงเทพฯ ยังคงเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม.อันดับ 1 หรือคิดเป็น 57.21 เพราะทำงานดี มีผลงานให้เห็น น่าจะแก้ปัญหากทม.ได้ดีกว่าคนอื่น สานงานต่อจากเดิมได้ ฯลฯ รองลงมาเลือกนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ร้อยละ 17.61 เพราะ อยากให้โอกาสคนใหม่ๆ เข้ามาทำงานบ้าง ชอบนโยบาย ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ฯลฯ

นายประภัสร์ จงสงวน ร้อยละ 13.16 เพราะ ทำงานดี มีผลงานให้เห็น อยากให้โอกาสคนใหม่ๆ เข้ามาทำงานบ้าง นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ร้อยละ 8.55 เพราะชอบนโยบาย มีทีมงานที่น่าเชื่อถือ และนางลีนา จังจรรจา ร้อยละ 0.68 เพราะ เปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ เข้ามาทำงานบ้าง มีความมุ่งมั่น ฯลฯ ขณะที่มีกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 2.79

ส่วนแฟนพันธุ์แท้ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคน คือ พบว่าแฟนพันธุ์แท้ ของนายอภิรักษ์ คือ กลุ่มเพศหญิงอายุระหว่าง 41 – 50 ปี ระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี อาชีพ พนักงานบริษัท รับจ้าง ขณะที่แฟนพันธุ์แท้ นายชูวิทย์ คือ กลุ่มเพศชาย อายุระหว่าง 21– 40 ปี ระดับการศึกษาปริญญาตรี อาชีพพนักงานบริษัท รับจ้าง แฟนพันธุ์แท้ นายประภัสร์ คือ กลุ่มเพศหญิง อายุระหว่าง 41– 50 ปี ระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี อาชีพ พนักงานบริษัท รับจ้าง และธุรกิจส่วนตัว ค้าขายทั่วไป แฟนพันธุ์แท้ นายเกรียงศักดิ์ คือ กลุ่มเพศหญิงและเพศชายพอๆ กัน อายุระหว่าง 31– 40 ปี ระดับการศึกษาปริญญาตรี อาชีพ พนักงานบริษัท รับจ้าง และธุรกิจส่วนตัว ค้าขายทั่วไป ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

ส่วนความเห็น “บทเรียน” จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ผ่านมา พบว่ามีผลงานน้อย บางโครงการยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ทำงานล่าช้า ร้อยละ 49.59 ทำไม่ได้เหมือนอย่างที่พูดไว้ในตอนหาเสียง ร้อยละ 19.83 ปัญหาเหมือนเดิม ซ้ำซาก ร้อยละ12.40 ควรเลือกจากบุคคลที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ร้อยะ 10.74

สำหรับคนที่เคยเลือก นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งทำให้นายสมัครได้เกิน 1 ล้านคะแนน ครั้งนี้คนกลุ่มนี้เลือกนายอภิรักษ์ ร้อยละ 47.21 เลือกนายประภัสร์ ร้อยละ 23.35 นายชูวิทย์ ร้อยละ 20.30 นายเกรียงศักดิ์ ร้อยละ 8.12 และนางลีน่า ร้อยละ 1.02.-สำนักข่าวไทย

ที่มา: http://news.mcot.net/politic/inside.php?value=bmlkPTU2NTIyJm50eXBlPXRleHQ=

By:Ponlawat Suwankhammoon
ID:5131601420
Section:02
Blog:http://cats-society.blogspot.com/

วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

นายกฯ พอใจความคืบหน้าบูรณะพระราชรถ พระราชยาน


กรุงเทพฯ 20 ก.ย. - นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการบูรณะพระราชรถ พระราชยาน พอใจที่เกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมมั่นใจผู้ชุมนุมที่สนามหลวงจะให้ความร่วมมือออกจากพื้นที่ เมื่อถึงพระราชพิธี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 10.00 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อติดตามความคืบหน้าการบูรณะพระราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบที่จะใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้การต้อนรับ

ทันทีที่นายกรัฐมนตรีมาถึง นายสมศักดิ์ได้ขอพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับนายกรัฐมนตรี ประมาณ 10 นาที และระหว่างการเดินเยี่ยมชมภายในพิพิธภัณฑ์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (20 ก.ย.) ได้เชิญกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ประชุม ณ ที่ทำการพรรค เพื่อหารือเรื่องการบริหารภายในพรรค ส่วนเรื่องการพิจารณาบุคคลมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ยังไม่แล้วเสร็จ และเมื่อถูกถามว่า นายสมชายจะควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีไม่ตอบ เพียงแต่ยิ้มเท่านั้น

นายสมชาย ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาได้รับมอบหมายให้เป็นประธานรับผิดชอบการจัดงานพระราชพิธี และประธานจัดสร้างพระเมรุ และมาดูความคืบหน้าการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแล้ว ซึ่งการมาเยี่ยมวันนี้ รู้สึกพอใจมาก ทางผู้รับผิดชอบงานทำงานแข็งขันเสร็จตามเวลา ราชรถต่าง ๆ เสร็จสมบูรณ์เกือบ 100% แล้ว โดยตั้งแต่เดือน ต.ค.-พ.ย. จะมีพิธีซ้อมใหญ่ ซ้อมย่อยอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยังคงอยู่ในบริเวณที่ใช้ประกอบพระราชพิธี นายสมชาย กล่าวว่า ผู้ชุมนุมหรือใครก็ตาม เราเป็นคนไทยต้องจัดทำเพื่อถวายพระเกียรติ เชื่อว่าไม่มีปัญหา ส่วนการเชิญผู้นำประเทศต่าง ๆ มาร่วมพระราชพิธี ต้องหารือกับสำนักพระราชวัง เพราะเป็นพระราชพิธีภายใน

จากนั้น นายสมชายได้นั่งรถรางกรุงเทพฯ ออกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อไปเยี่ยมชมสถานที่ก่อสร้างพระเมรุ ที่สนามหลวง โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที ก่อนออกเดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา. - สำนักข่าวไทย

ที่มา: http://news.mcot.net/politic/inside.php?value=bmlkPTE4NjM0Jm50eXBlPWNsaXA=

By:Ponlawat Suwankhammoon
ID:5131601420
Section:02
Blog:http://cats-society.blogspot.com/

รูปแบบการปกครองของไทย



เมืองหลวง: กรุงเทพมหานคร
ภาษาราชการ: ภาษาไทย
รัฐบาล: ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแบบรัฐสภา
- พระมหากษัตริย์: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
- นายกรัฐมนตรี: สมชาย วงศ์สวัสดิ์

ประวัติศาสตร์

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนาน นับแต่การล่มสลายของราชอาณาจักรขอม-จักรวรรดินครวัต นครธม เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13[1] และมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรโบราณหลายแห่ง เช่น อาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ เขมร ฯลฯ

ประวัติศาสตร์ไทยเริ่มเป็นรูปเป็นร่างใน พ.ศ. 1781 ตรงกับสมัยอาณาจักรสุโขทัย และสมัยอาณาจักรล้านนาแห่งภาคเหนือ กระทั่งอาณาจักรสุโขทัยเสื่อมอำนาจลงในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ความรุ่งเรืองจึงปรากฏในอาณาจักรทางใต้คือกรุงศรีอยุธยาแทน ครั้นเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สองใน พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากสินจึงทรงย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรี อย่างไรก็ดี ในช่วงดังกล่าวประเทศไทยมีอาณาเขตไม่แน่ชัด

ภายหลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อพ.ศ. 2325 อาณาจักรสยามเริ่มมีความเป็นปึกแผ่น โดยได้มีการผนวกดินแดนบางส่วนของอาณาจักรล้านช้างเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ครั้นในรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการผนวกเอาเมืองเชียงใหม่ หรืออาณาจักรล้านนา อันเป็นการผนวกดินแดนครั้งใหญ่ครั้งสุดท้าย

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแต่ก็ต้องรออีกถึงสี่สิบเอ็ดปีจึงจะได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2516 ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นมีเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยอีกสองครั้งคือ เหตุการณ์ 6 ตุลา และ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ล่าสุดได้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ หลังจากได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549

การปกครอง

เดิมประเทศไทยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา จนกระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้กระทำรัฐประหาร ในสมัยรัชกาลที่ 7 และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยเป็นสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ปัจจุบัน ประเทศไทยดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรไทย

อำนาจนิติบัญญัติมีรัฐสภาซึ่งมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นองค์กรบริหารอำนาจ อำนาจบริหารมีนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามคำกราบบังคมทูลของประธานรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรีเป็นองค์กรบริหารอำนาจ และอำนาจตุลาการมีศาลซึ่งประกอบด้วยศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองเป็นองค์กรบริหารอำนาจ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาควบคู่ไปกับระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ประมุขแห่งรัฐได้แก่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ประมุขแห่งอำนาจอธิปไตยทั้งสาม ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติมีนายชัย ชิดชอบในฐานะประธานรัฐสภาเป็นประมุข อำนาจบริหารมีนายสมัคร สุนทรเวชในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นประมุข และอำนาจตุลาการมีนายวิรัช ลิ้มวิชัยในฐานะประธานศาลฎีกาเป็นประมุข

การแบ่งเขตการปกครอง



ประเทศไทยแบ่งเขตการบริหารออกเป็น การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่จังหวัด 75 จังหวัด และการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ส่วน'สุขาภิบาล'นั้นถูกยกฐานะไปเป็นเทศบาลทั้งหมดในปี พ.ศ. 2542

ส่วนกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาเป็นเขตการปกครองแบบพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดนครปฐม ถูกเรียกเป็นเขตที่เรียกว่า "กรุงเทพมหานครและปริมณฑล"

ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

By:Ponlawat Suwankhammoon
ID:5131601420
Section:02
Blog:http://cats-society.blogspot.com/

รูปแบบการปกครองของอิหร่าน


เมืองหลวง: เตหะราน
รัฐบาล: สาธารณรัฐอิสลาม
ผู้นำสูงสุด: อายะตุลลอห์ อาลี คาเมเนอี
ประธานาธิบดี: มาห์มูด อาห์มาดีเนจาด


ประเทศอิหร่าน (ภาษาเปอร์เซีย: Īrān, ایران) เป็นประเทศในตะวันออกกลาง ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งช่วงก่อนปี พ.ศ. 2478 ชาวตะวันตกเรียกว่า เปอร์เซีย (Persia)

อิหร่านมีพรมแดนทางทิศตะวันออกติดต่อกับปากีสถาน (909 กิโลเมตร) และอัฟกานิสถาน (936 กิโลเมตร) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับเติร์กเมนิสถาน (1,000 กิโลเมตร) ทิศเหนือจรดทะเลแคสเปียน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับอาเซอร์ไบจาน (500 กิโลเมตร) และอาร์เมเนีย (35 กิโลเมตร) ตุรกี (500 กิโลเมตร) และอิรัก (1,458 กิโลเมตร) ส่วนทิศใต้จรดอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมาน

ในปี พ.ศ. 2522 การปฏิวัตินำโดยอายะตุลลอห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) ทำให้มีการก่อตั้งเป็น สาธารณรัฐอิสลามโดยโค่นล้มราชวงศ์ปาห์เลวีที่ปกครองภายใต้สาธารณรัฐอิสลามเทวาธิปไตย (theocratic Islamic republic) ทำให้ชื่อเต็มของประเทศนี้ในปัจจุบันคือ สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (Islamic Republic of Iran, جمهوری اسلامی ایران)

อิหร่านเป็นสาธารณรัฐอิสลาม โดยมีโครงสร้างดังนี้

○ประมุขสูงสุด (Rahbar)
ประมุขสูงสุดของอิหร่าน เป็นผู้นำสูงสุดทั้งฝ่ายศาสนาจักรและอาณาจักร

○ประธานาธิบดี (Ra'is-e Jomhoor)
เป็นตำแหน่งที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทุก ๆ 4 ปี และจะได้รับเลือกตั้งได้ไม่เกิน 2 สมัย ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร ถึงแม้ประธานาธิบดีจะได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนก็ตาม แต่อาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งโดยประมุขสูงสุดได้

○รองประธานาธิบดี
มีตำแหน่งรองประธานาธิบดี 6 คน และคณะรัฐมนตรี 20 คน ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

○สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (Majlis)
ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทุก ๆ 4 ปี จำนวน 290 คน ทำหน้าที่ออกกฎหมายและควบคุมฝ่ายบริหาร

การเมืองการปกครอง

• อิหร่านมีประวัติศาสตร์การปกครองแบบกษัตริย์เป็นระยะเวลานาน กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอิหร่าน คือ พระเจ้ามุฮัมมัด เรซา ชาห์ ปาฮ์ลาวี (Muhammad Reza Shah Pahlavi) เหตุการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศทำให้พระเจ้าชาห์ ปาฮ์ลาวี เสด็จฯ ไปลี้ภัยต่างประเทศ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2522และเสด็จสวรรคตเมื่อปี 2523 ที่อียิปต์

• เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2522 อญาโตลลอฮ์ รูโฮลาห์ โคไมนี (Ayatollah Ruhollah Khomeini) ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะต์ ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศอิหร่านเป็นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republic of Iran) โดยใช้หลักการทางศาสนาอิสลาม หรือ การปกครองในรูปแบบเทวาธิปไตย (Theocratic republic) เป็นแนวทางในการปกครองประเทศ การปฏิบัติตนในสังคมรวมถึงการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม และต่อต้านอิทธิพลของโลกตะวันตก ทั้งนี้ ผู้นำสูงสุด (Supreme leader) ซึ่งถือเป็นผู้นำทั้งฝ่ายศาสนาจักรและอาณาจักร เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ

• หลังการเสียชีวิตของอยาโตลลอฮ์ รูโฮลาห์ โคไมนี ในปี 2523 อิหร่านมีการเลือกผู้นำสูงสุดคนใหม่ คือ อยาโตลลอฮ์ อะลี โฮไซนี คาไมนี (Ayatollah Ali Hoseini Khamenei) อย่างไรก็ดี การเมืองภายในอิหร่าน เริ่มมีการแข่งขันระหว่างกลุ่มการเมืองสายอนุรักษ์นิยมเคร่งศาสนา กับกลุ่มปฏิรูปหัวก้าวหน้าในรัฐสภา

• ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มการเมืองสายปฏิรูปได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาได้พยายามเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันสมัย ในปี 2547 กลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเคร่งศาสนาอิสลาม ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในรัฐสภาเหนือฝ่ายปฏิรูป นโยบายของกลุ่มอนุรักษ์นิยมจึงทำให้อิหร่านกลับไปมีนโยบายอนุรักษ์นิยมและเคร่งศาสนามากยิ่งขึ้น โดยเห็นได้จากนโยบายของอิหร่านในการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ซึ่งได้รับการคัดค้านจากหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

• ปัจจุบัน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ได้แก่ นายมาห์มูด อามาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม โดยนายอามาดิเนจาด ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอิหร่าน เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนร้อยละ 62

ประเทศอิหร่านแบ่งออกเป็น 30 จังหวัด (provinces - ostanha) แต่ละจังหวัดปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมาจากการแต่งตั้ง (استاندار: ostāndār)
1.เตหะราน 2.กุม 3.มาร์กาซี 4.กาซวีน 5.กีลาน 6.อาร์ดะบีล 7.ซานจาน 8.อาซาร์ไบจานชัรกี 9.อาซาร์ไบจานฆอรบี 10.กุรดิสตาน 11.ฮามาดาน 12.กิรมานชาห์ 13.อีลาม 14.ลอริสถาน 15.คูเซสถาน 16. ชาฮาร์มาฮาลและบัคเตียรี 17.โคห์กีลูเยห์และบูเยอร์อาห์มัด 18.บูเชร์ 19.ฟาร์ส 20.โฮร์โมซกอน 21.ซิสถานและบาลูจิสถาน 22.กิรมาน 23.ยาซด์ 24.เอสฟาฮาน 25.เซมนาน 26.มาซันดะรอน 27.โกเลสถาน 28.โคราซานชีมาลี 29.โคราซานราซาวี 30.โคราซานจานูบี

ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99

By:Ponlawat Suwankhammoon
ID:5131601420
Section:02
Blog:http://cats-society.blogspot.com/

รูปแบบการปกครองของญี่ปุ่น


เมืองหลวง: โตเกียว
รัฐบาล: ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
- จักรพรรดิ: สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ
- นายกรัฐมนตรี: ยะซุโอะ ฟุกุดะ


คำว่าจังหวัดในภาษาญี่ปุ่นมี 4 แบบ คือ
โทะ (都) ใช้เฉพาะโตเกียวซึ่งเป็นเมืองหลวง
โด (道) เฉพาะฮอกไกโด
ฟุ (府) ใช้กับเกียวโตะและโอซะกะซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงในอดีต
เค็ง (県) ใช้กับจังหวัดอื่น ๆ
เมื่อพูดถึงจังหวัดรวม ๆ จะใช้ว่า โทะโดฟุเก็ง (都道府県)
ประเทศญี่ปุ่นมีเมืองใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละเมืองต่างมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม

การเมืองการปกครอง

ประเทศญี่ปุ่นปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นประมุข แต่มีรัฐสภาเป็นสถาบันสูงสุดของรัฐ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าของคณะรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้รับเลือกจากสมาชิกรัฐสภา นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับที่ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) หรือฉบับปัจจุบันได้มีการบัญญัติไว้ว่าสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ มิใช่องค์ประมุขและไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศ
รัฐสภา (国会, คกไก) ประกอบด้วย 2 สภา คือ
สภาผู้แทนราษฎร (衆議院, ชูงิอิง) มีสมาชิก 480 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และ
วุฒิสภา (参議院, ซังงิอิง) มีสมาชิก 242 คน มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยเลือกตั้งจำนวนครึ่งหนึ่งสลับกันไปทุก 3 ปี
พรรคการเมืองได้แก่
พรรคเสรีประชาธิปไตย (自由民主党) เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร
294 ที่นั่ง (สตรี 26 คน) ในวุฒิสภา 111 ที่นั่ง (สตรี 12 คน) หัวหน้าพรรคคือนายยาซุโอะ ฟุคุดะ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พรรคโคเมโตใหม่ (公明党) เป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 31 ที่นั่ง (สตรี 4 คน) ในวุฒิสภา
24 ที่นั่ง (สตรี 5 คน) หัวหน้าพรรคคือนายอะกิฮิโระ โอตะ

พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (Democratic Party of Japan: DPJ : Minshuto) แกนนำฝ่ายค้าน มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 113 ที่นั่ง (สตรี 10 คน) ในวุฒิสภา 82 ที่นั่ง (สตรี 11 คน)
หัวหน้าพรรคคือนายอิจิโร โอะซะวะ

พรรคสังคมประชาธิปไตยญี่ปุ่น (Social Democratic Party of Japan : SDP) เป็นพรรคฝ่ายค้าน มีที่นั่ง
ในสภาผู้แทนราษฎร 7 ที่นั่ง (สตรี 2 คน) ในวุฒิสภา 6 ที่นั่ง (สตรี 1 คน) หัวหน้าพรรคคือนางมิซุโฮะ ฟุคุชิมะ

พรรคคอมมิวนิสต์ (Japan Communist Party - JCP) เป็นพรรคฝ่ายค้าน มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 9 ที่นั่ง (สตรี 2 คน) ในวุฒิสภา 9 ที่นั่ง (สตรี 3 คน) หัวหน้าพรรคคือนายคะซุโอะ ชิอิ

การแบ่งเขตการปกครอง

ญี่ปุ่นแบ่งการปกครองออกเป็น 47 จังหวัด(บริเวณเขตและจังหวัดต่างๆของญี่ปุ่น) และ 8 ภูมิภาค ซึ่งมักจะถูกจับเข้ากลุ่มตามเขตแดนที่ติดกันที่มีวัฒนธรรมและสำเนียงการพูดใกล้เคียงกัน ทุกจังหวัดจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด

ฮอกไกโด 1. ฮอกไกโด

โทโฮะกุ 2. อะโอะโมะริ3. อิวะเตะ4. มิยะงิ5. อะกิตะ6. ยะมะงะตะ 7. ฟุกุชิมะ
คันโต8. อิบะระกิ9. โทะจิงิ10. กุนมะ11. ไซตะมะ12. จิบะ13. โตเกียว14. คะนะงะวะ

จูบุ 15. นิอิงะตะ16. โทะยะมะ17. อิชิกะวะ18. ฟุกุอิ19. ยะมะนะชิ20. นะงะโนะ21. กิฟุ22. ชิซึโอะกะ23. ไอจิ

คันไซ 24. มิเอะ25. ชิงะ26. เกียวโตะ27. โอซะกะ28. เฮียวโงะ29. นะระ30. วะกะยะมะ

จูโงะกุ 31. โทตโตะริ32. ชิมะเนะ33. โอะกะยะมะ34. ฮิโระชิมะ35. ยะมะงุจิ

ชิโกะกุ 36. โทะกุชิมะ37. คะงะวะ38. เอะฮิเมะ39. โคจิ

คิวชู และ โอะกินะวะ 40. ฟุกุโอะกะ41. ซะงะ42. นะงะซะกิ43. คุมะโมะโตะ44. โออิตะ45. มิยะซะกิ46. คะโงะชิมะ47. โอะกินะวะ

ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%8D%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99

By:Ponlawat Suwankhammoon
ID:5131601420
Section:02
Blog:http://cats-society.blogspot.com/

รูปแบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา


สหรัฐอเมริกา (United States of America) เป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตย ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยมลรัฐ 50 มลรัฐ ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ มีพรมแดนต่อกับประเทศแคนาดาและเม็กซิโก ส่วนพรมแดนทางทะเลนั้นติดต่อกับประเทศแคนาดา รัสเซียและบาฮามาส โดยมีมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลแบริง มหาสมุทรอาร์กติก มหาสมุทรแอตแลนติก อ่าวเม็กซิโก และทะเลแคริบเบียนเป็นผืนน้ำล้อมรอบ

ประวัติศาสตร์

ก่อนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (รวมถึงอาณานิคมก่อนหน้านั้น) จะถูกก่อตั้งขึ้น พื้นที่ทั้งหมดของสหรัฐฯในปัจจุบันเดิมเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับชนพื้นเมืองชาวอเมริกันมาก่อนเป็นเวลาถึง 15,000 ปี จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ได้มีการสำรวจบุกเบิกและตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรปเริ่มต้นขึ้น ราชอาณาจักรอังกฤษได้ทำการก่อตั้งอาณานิคมใหม่ และเข้าควบคุมอาณานิคมที่ก่อตั้งมาก่อนอื่นๆ จนกระทั่งในที่สุด หลังจากที่ถูกรัฐบาลตัวแทนจากเกาะบริเตนปกครองมาเป็นเวลาร้อยกว่าปี อาณานิคมที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษจำนวน 13 อาณานิคมได้ทำการประกาศอิสรภาพในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 (พ.ศ. 2319) ทำให้เกิดสงครามปฏิวัติอเมริกาขึ้น และแล้วสงครามก็สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1783 (พ.ศ. 2326) โดยชัยชนะเป็นของอดีตอาณานิคม เมื่อราชอาณาจักรอังกฤษยอมรับอดีตอาณานิคมที่อังกฤษเคยปกครองมาก่อนให้เป็นประเทศใหม่ ตั้งแต่นั้นมาประเทศก่อตั้งใหม่ที่ถูกเรียกว่า "สหรัฐอเมริกา" ก็แผ่ขยายอาณาเขตของตนเองจาก 13 มลรัฐไปถึง 50 มลรัฐกับอีกหนึ่งเขตปกครองกลาง รวมถึงดินแดนภายใต้การปกครองอีกหลายแห่งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้สหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึงกว่า 4 เท่าตัว และด้วยเนื้อที่กว่า 9.1 ล้านตารางกิโลเมตรของสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐฯกลายเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก (แต่ในบางแหล่งข้อมูลที่ทำการจัดอันดับ สาธารณรัฐประชาชนจีนจะอยู่ในอันดับสาม ส่วนสหรัฐจะตกไปอยู่อันดับสี่ ถ้าทำการนับจีนไทเปรวมเข้าไปด้วย) อีกทั้งสหรัฐฯ ยังเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสาม ด้วยจำนวนประชากรถึงเกือบ 300 ล้านคน

มลรัฐของสหรัฐอเมริกา 48 มลรัฐ (ซึ่งมักจะถูกเรียกว่าแผ่นดินใหญ่) ตั้งอยู่บนดินแดนระหว่างแคนาดาและเม็กซิโก ส่วนอะแลสกาและฮาวายนั้น ไม่ได้อยู่ติดกับรัฐอื่น นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังมีดิสตริกต์ออฟโคลัมเบียซึ่งเป็นเขตปกครองกลางประจำสมาพันธรัฐเป็นเมืองหลวง รวมถึงดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกาอยู่ทั่วโลก มลรัฐทั้ง 50 มลรัฐของสหรัฐอเมริกานั้นมีสิทธิในการปกครองตนเองในระดับสูงภายใต้ระบบสหพันธรัฐ

สหรัฐอเมริกาได้ธำรงค์การปกครองระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรี มาตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330) ตั้งแต่นั้นมา สถานะการเมืองของสหรัฐอเมริกายังคงมั่นคงมาจวบจนถึงทุกวันนี้ โดยสถานะทางเศรษฐกิจและทางทหารของสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นอย่างคงที่ตลอดช่วงกลางถึงช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผ่านทั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง โดยทั้งสองครั้งอยู่ในฝ่ายผู้ชนะ จากนั้นมาสหรัฐฯ ก็เป็นประเทศอภิมหาอำนาจคู่กับสหภาพโซเวียต และทำสงครามแนวใหม่ที่เรียกว่า "สงครามเย็น" ต่อกัน จนกระทั่งในคริสตทศวรรษที่ 90 (พ.ศ. 2533-2534) เมื่อสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลง ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศ "อภิมหาอำนาจ" หนึ่งเดียว มาจนถึงทุกวันนี้

การแบ่งเขตการปกครอง

คอนเนตทิคัต
เคนทักกี
แคนซัส
แคลิฟอร์เนีย
โคโลราโด
จอร์เจีย
เซาท์แคโรไลนา
เซาท์ดาโคตา
เดลาแวร์
เทกซัส
เทนเนสซี
นอร์ทแคโรไลนา
นอร์ทดาโกตา
นิวเจอร์ซีย์
นิวเม็กซิโก
นิวยอร์ก
นิวแฮมป์เชียร์
เนแบรสกา
เนวาดา
เพนซิลเวเนีย
ฟลอริดา
มอนแทนา
มิชิแกน
มินนิโซตา
มิสซิสซิปปี
มิสซูรี
เมน
แมริแลนด์
แมสซาชูเซตส์
ยูทาห์
โรดไอแลนด์
วอชิงตัน
วิสคอนซิน
เวสต์เวอร์จิเนีย
เวอร์จิเนีย
เวอร์มอนต์
ไวโอมิง
ลุยเซียนา
แอริโซนา
ออริกอน
อะแลสกา
อาร์คันซอ
แอละแบมา
อินดีแอนา
อิลลินอยส์
โอคลาโฮมา
โอไฮโอ
ไอดาโฮ
ไอโอวา
ฮาวาย
รายชื่อมลรัฐในสหรัฐอเมริกา เรียงตามลำดับการก่อตั้ง

นอกจากนี้ยังประกอบด้วยดินแดนอื่น ๆ ได้แก่ ดินแดน ดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของประเทศ และดินแดนโพ้นทะเลอื่น ๆ ที่สำคัญได้แก่ อเมริกันซามัว กวม จอห์นสตันอะทอลล์ หมู่เกาะมิดเวย์ หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา เปอร์โตริโก และหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา และอีกหนึ่งดินแดนคือเขตคลองปานามาที่สหรัฐอเมริกาเช่าไว้จากปานามา

โครงสร้างทางการเมืองการปกครอง

มีรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ ( Federal Republic) แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ละฝ่ายได้รับเลือกในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป จึงมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน (checks and balances) ประกอบด้วยพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ พรรครีพับลิกัน (Republican) และพรรคเดโมแครต (Democrat) ดังนี้

ฝ่ายบริหาร มีประธานาธิบดี (President) เป็นประมุขและเป็นหัวหน้ารัฐบาล (Chief of Executive) ได้รับเลือกจากการเลือกตั้งทั่วไป ร่วมกับรองประธานาธิบดีทุก 4 ปี ในวันอังคารแรกหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งผ่านคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) จำนวน 538 คน ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัย สมัยละ 4 ปี ประธานาธิบดีจะเป็นผู้ร่างรัฐบัญญัติต่อรัฐสภา และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้ทำสนธิสัญญาต่าง ๆ ตลอดจนแต่งตั้งผู้พิพากษาเอกอัครราชทูตและตำแหน่งต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารตั้งแต่ระดับรองผู้ช่วยรัฐมนตรี (Deputy Assistant Secretary) ขึ้นไป

ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย 2 สภา คือ

วุฒิสภา มีสมาชิกจากแต่ละมลรัฐ มลรัฐละ 2 คน รวมเป็น 100 คน ดำรงตำแหน่งสมัยละ 6 ปี โดยสมาชิกจำนวน 1 ใน 3 ครบวาระทุก 2 ปี วุฒิสภามีอำนาจให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบต่อบุคคลที่ประธานาธิบดีเสนอขอแต่งตั้ง รวมทั้งคณะรัฐมนตรี และให้สัตยาบันสนธิสัญญา รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง (President of the Senate)
สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิก 435 คน แบ่งตามสัดส่วนของประชากรในมลรัฐ คือ ประชากร 575,000 คน ต่อ สมาชิก 1 คน ดำรงตำแหน่งสมัยละ 2 ปี ประธานสภา (Speaker of the House)
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วย ศาลชั้นต้น (Curcuit Court) ศาลอุทรณ์ (Appeal Court) และศาลฎีกา (Supreme Court) ศาลฎีกามีอำนาจที่จะล้มเลิกกฎหมายใด ๆ และการปฏิบัติการของฝ่ายบริหารที่ได้วินิจฉัยแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกานั้น ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อและวุฒิสภาเป็นผู้ให้การรับรอง โดยศาลสูงของสหพันธ์มีผู้พิพากษาทั้งหมด 9 คน ซึ่งตำรงตำแหน่งได้โดยไม่มีการกำหนดวาระ โดยประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อและวุฒิสภาเป็นผู้ให้การรับรอง

สิทธิในการเลือกตั้ง : อายุ 18 ปีขึ้นไป

ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2

By:Ponlawat Suwankhammoon
ID:5131601420
Section:02
Blog:http://cats-society.blogspot.com/