การเมืองไทย










VS




เป็นการต่อสู้ในเส้นทางของวงจรอุบาตที่ไม่มีวันสิ้นสุด

เห้ออออ ถอนหายใจแล้วก็ถอนหายใจอีก

การเมืองไทยเมื่อไรจะได้เป็นการเมืองไทยที่สมบูรณ์เสียที

หวังว่าการเมืองไทยจะฟื้นฟูในอนาคตเมื่อรถึงรุ่นพวกเรา



ล้อการเมือง(มันก็คือความจริงนั้นแหละมั้ง)







วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

พปช. ลอยแพ นพดล ชี้ ครม. ไม่เกี่ยว ไม่ต้องรับผิดชอบ



สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบจาก กระทรวงวัฒนธรรม

หลังจากที่ศาลธรรมนูญวินิจฉัยว่า การไปเซ็นลงนามแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา ของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผิดต่อมาตรา 190 รวมทั้งคดีอาญา 119 ซึ่งประเด็นนี้ทำให้หลายคนวิตกกังวลว่าอาจทำให้มีผลต่อคณะรัฐมนตรีทั้งคณะนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า หากในที่สุดแล้วคณะรัฐมนตรีต้องยุติบทบาทจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชาโดยไม่ผ่านรัฐสภานั้นผิดมาตรา 190 ถ้ามองถึงกระบวนการในสภานั้นก็คงต้องเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ในกรณีที่ผู้บริหารประเทศบกพร่องไม่สามารถบริหารต่อไปได้ เพราะหากอยู่ทำงานต่อไปก็คงต้องมีการยื่นถอนถอน ประเด็นนี้ตนตั้งข้อสังเกตว่าด้วยข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ 50 ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานของฝ่ายบริหาร ส่วนที่มี ส.ส. ในพรรคเสนอให้มีการยุบสภา เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองนั้น ตนเห็นว่าการยุบสภาไม่สามารถหนีคดียุบพรรคได้ มันคนละส่วนกัน

ด้านนายพีระพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร ในฐานะฝ่ายกฎหมายของพรรค กล่าวว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าการออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชาโดยไม่ผ่านรัฐสภานั้นผิดมาตรา 190 ตรงนี้ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ เพราะมติคณะรัฐมนตรีก็ต้องฟังข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนหน้าที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่งคราวนั้น คณะรัฐมนตรีก็ได้ทำตามแล้ว ตรงนี้คณะรัฐมนตรีจึงไม่ต้องรับผิดชอบ คนที่รับผิดชอบคือรัฐมนตรีผู้เดียว

ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีแถลงการณ์ร่วมขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีไม่ได้พูดอะไร เพียงแต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ศาลวินิจฉัยชี้ชัดว่าสัตยาบันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งเราก็ไม่ได้อ้างสัตยาบันนั้นอยู่แล้ว เพราะคำสั่งศาลปกครองเราไปอ้างไม่ได้ แต่แม้เราอ้างไม่ได้เขาก็นำไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว

มีการเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้น?

นายชูศักดิ์ : ผมต้องถามว่าให้รับผิดชอบอย่างไรต่ออะไร มีความเสียหายอะไร ต้องถามก่อน แน่นอนความรับผิดชอบต้องมีหลายระดับ ซึ่งคิดว่าเราได้ใช้ระมัดระวังดีแล้วหรือยัง ทางกระทรวงต่างประเทศที่ได้เสนอเรื่องนี้มา กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย รวมทั้งกฤษฎีกาก็บอกว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 190 ทางคณะรัฐมนตรีก็ดูกันด้วยความรอบคอบ เรื่องนี้เป็นเรื่องของการตีความทางกฎหมาย เมื่อไม่เห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 190 คณะรัฐมนตรีก็ดำเนินการต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศควรต้องแสดงความรับผิดชอบหรือไม่?

นายชูศักดิ์ : การรับผิดชอบต้องแสดงว่าบ้านเมืองต้องเสียหาย แต่ความเสียหายขณะนี้คืออะไร ตนได้เรียนไปแล้วว่าปราสาทเป็นของกัมพูชา เขาขึ้นทะเบียนได้ ดินแดนไทยไม่ได้เกี่ยวข้อง เราไม่ได้เสียดินแดน แล้วเราเสียหายอะไร ถ้าเสียหายตน และคณะรัฐมนตรียินดีรับผิดชอบ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าสิ่งที่คณะรัฐมนตรีทำขัดรัฐธรรมนูญยังไม่ถือว่าเป็นความเสียหายอีกใช่หรือไม่?

นายชูศักดิ์ : ก็กฎหมายเขียนว่า ส่อว่าจงใจไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ สื่อเข้าใจคำว่าจงใจหรือไม่ ทั้งนี้ปัญหาข้อกฎหมายของบ้านเมืองเป็นไปได้ทั้งนั้น ศาลนั้นว่าอย่างนี้ ศาลนี้ว่าอย่างนั้น ครั้งหนึ่งอาจจะตัดสินอย่างนี้ แต่อีกครั้งหนึ่งอาจจะตัดสินอีกอย่าง

นายกรัฐมนตรีได้พูดเรื่องอนาคตทางการเมืองในคณะรัฐมนตรีหรือไม่?

นายชูศักดิ์ : นายกรัฐมนตรีเพียงแต่พูดประเด็นทางกฎหมายว่าถ้าเขายื่นถอดถอนกัน คณะรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งตนก็แจ้งให้ทราบ และคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้วิตกอะไร

หาก ส.ว. ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. และชี้มูลว่าขัดรัฐธรรมนูญจริง จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองหรือไม่?

นายชูศักดิ์ : ก็ต้องดูกันไปเพราะในรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าเมื่อมีการร้อง ประธานวุฒิสภาก็ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. เมื่อ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนและชี้มูล คณะรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที และส่งให้ ส.ว. ถอดถอน โดยใช้เสียง 3 ใน 5 ซึ่งประเด็นนี้คณะรัฐมนตรีก็ห่วงว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ตนก็บอกว่าให้ทำใจดีๆ เพราะกฎหมายใช้คำว่า ส่อว่าจงใจไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าตีความอย่างนั้นก็ช่วยอะไรไม่ได้ในบ้านเมืองนี้

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังมีมติให้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางอัยการสูงสุดให้ความเห็นมาว่า ควรอุทธรณ์ในประเด็นอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และในประเด็นที่ว่ามีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาหรือไม่ ส่วนเรื่องมาตรา 190 ก็ถือว่าจบในขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในฐานะตัวแทน 77 ส.ว. ที่เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมือง เนื่องจากจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องจิตสำนึกและมารยาททางการเมืองที่จะต้องลาออกในทันที ในส่วนของ ส.ว. ไม่สามารถใช้สิทธิริเริ่มดำเนินการยื่นถอดถอนรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 ได้ เพราะมาตรานี้ระบุว่า ส.ส. เข้าชื่อ 1 ใน 4 หรือประชาชนเข้าชื่อ 20,000 คน ยื่นให้วุฒิสภาดำเนินการถอนถอนตามมาตรา 270 และ 274

"แต่ขณะนี้ ส.ว. กำลังหารือตามรัฐธรรมนูญมาตรา 275 โดยกล่าวโทษคณะรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในข้อหาไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา(ป.วิอาญา) มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ และพิจารณาว่าจะเข้าข่ายขัดต่อ ป.อาญา มาตรา 119 และ 120 โทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต หรือไม่ ซึ่ง ส.ว. จะร่วมยกร่างกล่าวโทษและรวบรวมเรื่องทั้งหมด โดยจะทำให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด แต่ทั้งนี้ต้องรอคำวินิจฉัยกลางก่อน" นายคำนูณ กล่าว

ส่วนนายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.กรุงเทพมหานคร กล่าวเช่นเดียวกันว่า ถ้าพิจารณาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีทั้งชุดจะต้องร่วมกันแสดงความรับผิดชอบ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ตายยกรัง เพราะเป็นการยกประโยชน์ให้กับประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตามต้องไปตรวจสอบว่าในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าว มีรัฐมนตรีหรือผู้เกี่ยวข้องคนใดทักท้วงบ้าง หากไม่ทักท้วงก็ตายยกรัง

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.กรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า นายนพดลสามารถที่จะบรรเทาปัญหาให้คณะรัฐมนตรี หากไม่สะดวกในการเดินทางกลับประเทศ ขอให้ส่งใบลาออกให้กับนายกฯ ได้ เพราะนายนพดลเคยประกาศจะรับผิดชอบ ดังนั้นสิ่งที่นายนพดลต้องรับผิดชอบคือ การลาออก ถ้ากังวลว่าจะถูกปิดล้อมที่สนามบินก็ไม่ต้องกลับมา อาจไปลงที่พนมเปญหรือเกาะกงก็ได้


แหล่งข้อมูล
คมชัดลึก

วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

“พันธมิตรฯ” ยื่น "ปธ.วุฒิฯ" ถอดถอน ครม.ทั้งคณะ ฐานจงใจขัด รธน.



แกนนำพันธมิตรฯ ยื่นหนังสือถอดถอนคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต่อ ปธ.วุฒิบ่ายนี้ ฐานจงใจขัด รธน.แถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร ก่อนล่า 20,000 รายชื่อ พร้อมเรียกร้อง “ปองพล” แสดงสปิริตด้วยการลาออก

วันนี้ (11 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา เวลา 14.00 น. วันที่ 11 ก.ค. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วยนายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย นายสุริยะใส กตะศิลา นายศิริชัย ไม้งาม เข้าพบนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาเพื่อแสดงตนเบื้องต้นใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 เพื่อถอดถอนคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนาย สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งคณะ

“เมื่อแสดงตนเสร็จ จะรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ครบ 20,000 รายชื่อ หากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ถอดถอนคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ก็จะถอดถอนเป็นรายบุคคล ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าร่วมประชุมและมีมติในวันดังกล่าว” นายพิภพ กล่าว

นายพิภพ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีควรมีมติไม่ยอมรับมติคณะกรรมการมรดกโลก กรณีคณะกรรมการร่วม 7 ประเทศ ที่เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร เพราะหากยอมรับมติดังกล่าวเท่ากับยอมรับการดูแลดินแดนที่เป็นอธิปไตยของไทย เพราะองค์กรดังกล่าวไม่เหมือนกับคำพิพากษาของศาลโลก ที่ไทยได้สงวนสิทธิ์ในการโต้แย้งไว้ และจะทำให้กลายเป็นปัญหาในอนาคตได้ และอยากให้ นายปองพล อดิเรกสาร รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ด้วยการลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เพื่อเป็นการแสดงสปิริต

ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่า พฤติการณ์ของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนาย สมัคร สุนทรเวช ที่เห็นชอบให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปลงนามในเอกสารแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาในการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาว่า เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน แต่คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกลับมิได้ดำเนินการ แม้มีเสียงคัดค้านจากสังคมก็ตาม นอกจากนี้ การดำเนินของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมัคร ยังเป็นไปแบบเร่งรีบ ปกปิด และไม่โปร่งใส จนเปิดช่องและเอื้อประโยชน์ ให้รัฐบาลกัมพูชาสามารถขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกแต่เพียงฝ่ายเดียว จนเป็นผลสำเร็จท่ามกลางความผิดหวังของประชาชนคนไทย ดังนั้นเมื่อพิจารณาพฤติการณ์การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถือเป็นการดำเนินการที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 270

“พฤติการณ์ทั้งหมดของรัฐบาลจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่งแกนนำจึงขอแสดงตนต่อประธานวุฒิสภาเป็นผู้ริเริ่มขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 164 เพื่อให้วุฒิสภา มีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา 270 ออกจากตำแหน่งต่อไป ทั้งนี้ที่ยื่นถอดถอนรัฐมนตรีทั้งคณะ รัฐมนตรีที่ไม่ได้ร่วมประชุมครม.เพื่ออนุมัติการไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาในการประชุมครม.วันที่ 17 มิถุนายน ก็ต้องไปชี้แจงต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ป.ป.ช.พิจารณาเอง และในวันเสาร์-อาทิตย์ นี้ กลุ่มพันธมิตรฯจะรวบรวมรายชื่อให้ครบ 20,000 ชื่อ เพื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาภายในวันที่ 15 กรกฎาคม เวลา 13.00 น.

ด้านนายประสพสุข กล่าวว่า เมื่อยื่นรายชื่อมาก็จะตรวจสอบ โดยจะส่งไปที่ฝ่ายทะเบียน กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย และ กกต.ตรวจสอบความถูกต้องต่อไป จากนั้นก็จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอน

จากนั้นนายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงกรณีที่นายสมัคร ประกาศจะไม่ยุบสภาและไม่ลาออกว่า เป็นเรื่องที่นายกฯไม่คำนึงถึงจริยธรรมทางการเมือง ปกตินักการเมืองทั่วโลกเมื่อมีข้อมูลออกมาแบบนี้จะแสดงสปิริตลาออก แต่นักการเมืองไทยไม่มีจิตสำนึก พันธมิตรฯจึงดำเนินการถอดถอนและดำเนินคดีอาญา การที่รัฐบาลและรมว.ต่างประเทศดำเนินการขัดรัฐธรรมนูญ จึงถือว่านิติกรรมเป็นโมฆะ เหมือนกรณีนาย ไชยา สะสมทรัพย์ อดีตรมว.สาธารณสุข ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ก็ถือว่าเป็นโมฆะตั้งแต่รับตำแหน่ง กรณีนี้ก็เช่นกัน การไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมจึงเป็นโมฆะ ทั้งนี้ปราสาทพระวิหารเป็นของไทย และไทยสามารถเอาคืนได้ตลอด แต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นายนพดล ไปสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารที่ฝรั่งเศส จากนั้นก็มาขอมติครม.เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน และวันที่ 18 มิถุนายน จึงไปลงนามในแถลงการณ์ร่วม เป็นการผิดซ้ำซาก แล้วยังมายืนยันว่าไม่ได้ทำผิดหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถือว่าไม่รู้จักถูกผิดชั่วดี เหมือนไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า นายกฯอ้างว่า ลาออกแล้วจะเป็นสุญญากาศทางการเมือง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การลาออกทำได้ และไม่ได้ติดล็อกอะไร เรื่องนี้มีทางออกตามกลไกอยู่แล้วโดยมีคนใหม่ไปทำหน้าที่ได้ สุญญากาศเกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้ และถ้าไม่มีรัฐบาลนี้ประเทศชาติก็ยังเดินหน้าไปได้และจะเจริญยิ่งกว่า เมื่อถามต่อว่า ฝ่ายรัฐบาลมีท่าทีเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า พันธมิตรฯจับตาดูอยู่แล้ว และถ้าดำเนินการพันธมิตรฯก็จะต่อต้านจนถึงที่สุด ทั้งนี้ก่อนหน้านี้กรณีที่มีสมาชิกรัฐสภาจำนวนกว่า 160 คน เข้าชื่อยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 50 พันธมิตรฯได้รวบรวมรายชื่อประชาชนยื่นถอดถอนไปแล้ว ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของป.ป.ช.ถ้ามีการชี้ว่ามีมูล สมาชิกจำนวนดังกล่าวก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคงไม่ทันที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า นายกฯ ระบุว่า จะเปิดเผยผู้อยู่เบื้องหลังการโค่นล้มรัฐบาล นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เปิดไปเลย ขอให้รีบพูดในรายการสนทนาประสาสมัครในวันอาทิตย์ ไหนๆ จะโดนดำเนินการอยู่แล้ว ไม่แน่อาทิตย์นี้นายกฯ อาจได้พูดเป็นครั้งสุดท้าย


แหล่งที่มา :
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000081687